แรงงานภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจ

การปฏิวัติครั้งที่ 3
SHARE

ชุดฟอร์มโรงงานสิ่งทอ บริษัท ไทยเอโร่ การ์เม้นต์ จำกัด โรงงานหนึ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอจำนวนมากที่ต้องปิดตัวลงไปจากการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมสิ่งทอระดับโลก และจากการได้รับผลกระทบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลางปี 2540 หรือที่เรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบตกอยู่ในสภาวะวิกฤต การลงทุนหยุดชะงัก ธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมจำนวนมากปิดตัวลง โดยเฉพาะโรงงานสิ่งทอ  วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลจำต้องกู้เงินและขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลก พ่วงด้วยเงื่อนไข IMF ที่ก่อให้เกิดชุดกฎหมายเศรษฐกิจ 11 ฉบับ หรือที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น กฎหมายขายชาติ ที่หนึ่งใน 11 ฉบับมีกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ หรือกฎหมายขายรัฐวิสาหกิจ ที่ก่อให้เกิดการลุกฮือคัดค้านหลายระลอกตามมาอย่างต่อเนื่องหลายปี 

ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ส่งผลให้แรงงานในระบบถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมเปิดเผยว่า มีจำนวนลูกจ้างถูกเลิกจ้างตลอดปี 2540 เป็นจำนวน 408,557 คน และตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงสิ้นปี 2541 มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างและลาออกอีกอย่างต่ำ 2.9 แสนคน รวมทั้งสิ้นเกือบ 7 แสนคน ยังไม่นับรวมกิจการขนาดเล็ก กิจการก่อสร้างที่ไม่ได้แจ้งเข้าระบบประกันสังคมอีกด้วย และที่สำคัญ แรงงานส่วนใหญ่เหล่านี้มักไม่ได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ผู้ใช้แรงงานในหลายกิจการถูกลดค่าจ้าง รวมถึงสวัสดิการ มีการเอารัดเอาเปรียบหลากหลายรูปแบบในวิกฤตช่วงนั้น โดยมีข้อมูลจากศาลแรงงานกลางระบุว่า จำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลแรงงาน ปี 2540 มีจำนวน 17,140 คดี และปี 2541 มีอัตราการเพิ่มจำนวนคดีพุ่งขึ้นสูงสุด มากกว่า 20,000 คดี

การล่มสลายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ทำให้แรงงานหญิงจำนวนมากกลับกลายเป็นแรงงานกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ผู้ใช้แรงงานหญิงถูกผลักออกไปอยู่นอกโรงงาน กลายเป็นแรงงานนอกระบบ และผู้รับงานไปทำที่บ้านทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายและสวัสดิการคุ้มครองรองรับที่เพียงพอ ประกอบกับภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เปลี่ยนสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ประเทศไทยได้มีการผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อส่งเสริมการส่งออก เพื่อหวังดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค เพื่อดึงดูดนายทุนมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวเร็วและเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานในรูปแบบการจ้างเหมาค่าแรงในปริมาณมาก เพื่อให้ตอบโจทย์นายทุน ในเรื่องต้นทุนและปริมาณการผลิต ยิ่งส่งผลให้แรงงานอยู่นอกระบบในจำนวนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการรวมตัวของขบวนการแรงงานที่มีพลัง ผลักดันกฎหมายและนโยบายเช่นในอดีตเป็นไปได้ยากมากขึ้น เนื่องจากฐานมวลชนถูกขยายออกนอกเมืองหลวงตามฐานการผลิตในอุตสาหกรรม รวมทั้งรัฐเริ่มกำกับการเรียกร้องของแรงงานให้อยู่ในกรอบเรื่องปากท้องเท่านั้นอีกด้วย


อ้างอิง

  • บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. ขบวนการสหภาพแรงงานไทยจาก รสช. ถึงยุค IMF. กรุงเทพฯ: มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2542. 
  • ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา. “6 ยุคประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย 2475 – ปัจจุบัน.” นักข่าวพลเมือง. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564, https://www.facebook.com/citizenthaipbs/photos/a.346475168714362/1380318091996726/  

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.