“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดตาย”
นี่คือคำมั่นสัญญาของรัฐบาลคณะราษฎร ที่ได้ประกาศชัดเจนในหลัก 6 ประการ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สยามประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปรากฏว่ามีคนตกงานจำนวนมากและถือเป็นปัญหาใหญ่ของชาติกระทั่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเหล่ากรรมกรว่างงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล ให้จัดหางานให้ทำ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหางานขึ้น 2 ฉบับคือ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน” และ “พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น” นับเป็นนโยบายแรกของรัฐบาลประชาธิปไตยเกี่ยวกับกรรมกร โดยเป็นนโยบายการหางานให้กรรมกรทำและให้กรรมกรที่ว่างงานไปลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางาน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งแผนกจัดหางานขึ้นในกระทรวงมหาดไทยในปี 2476 นับเป็นหน่วยงานแรกของรัฐที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลงานด้านแรงงานโดยตรง
ในปี 2476 รัฐบาลคณะราษฎร โดย ปรีดี พนมยงค์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยใช้แนวทางสังคมนิยมเป็นกรอบในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งหลักประกันสังคม รวมถึงการจัดสรรที่ดินและแบ่งปันกำไรอย่างเสมอภาค แต่ท้ายที่สุดกลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากฝ่ายอำนาจเก่า ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รัฐบาลคณะราษฎรจึงเลือกแนวทางประนีประนาม และใช้นโยบายทางเศรษฐกิจชาตินิยม
โดยรัฐบาลได้เข้าไปริเริ่มดำเนินกิจการอุตสาหกรรมด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ แทนที่กิจการของชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “รัฐพาณิชย์” หรือ “ทุนนิยมโดยรัฐ” เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ทั้งยังได้ดำเนินการจัดสรรจ้างแรงงานไทยให้เข้าทำงานในกิจการของรัฐมากยิ่งขึ้น นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจปรากฏขึ้นอีกครั้งเมื่อหลวงพิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง กิจการของชาวต่างชาติหลายอย่างได้ถูกถ่ายมาอยู่ในมือนักลงทุนไทยและรัฐมากขึ้น ซึ่งปรากฏชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นช่วงที่ทุนตะวันตกอ่อนแอ
เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน
พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
วันเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์
เวลา 10:00 - 16:30 น.