กระแสการเมืองและการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

เนื่องด้วยในปัจจุบันได้มีปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ในกระบวนการต่าง ๆ ประกอบด้วย กระบวนการรับสมัคร การเลื่อนขั้นเงินเดือน การจัดวางตำแหน่ง ตลอดจนการสิ้นสุดการจ้าง ยังคงมีเงื่อนไขของการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ในช่วงยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกคนตื่นตัวมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างชัดเจน

หากพิจารณาจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบัน จะพบว่ากฎหมายครอบคลุมเพียงการเลือกปฏิบัติในมิติความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น ในขณะที่ประเด็นอื่น ๆ อย่างการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านทัศนคติทางการเมือง ความเชื่อ ศาสนา ค่านิยม การศึกษา และอื่น ๆ กลับไม่ได้ถูกรับรองเอาไว้ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ฝ่าย HR ของบริษัทต่าง ๆ เริ่มไปสอดส่องตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ของผู้สมัครงานหรือพนักงานบางรายหากหาไม่ได้ก็จะพยายามสืบผ่าน Digital Footprint เพื่อดูพื้นหลังทางความคิดของบุคคลคนนั้นว่าตรงใจกับตนเองหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองผ่านรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การบังคับใส่เสื้อสี การสั่งให้เข้าร่วมหรือไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หากมีพนักงานขัดขืนก็อาจถูกประณามได้ 

นอกจากนี้กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ได้ครอบคลุมการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ทั้งในระดับกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญ ถึงจะเป็นความจริงที่ว่าในรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2560 จะให้สิทธิแก่บุคคลในการแสดงออกและความคิดเห็นทางการเมือง และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติในมิติความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อ ทางศาสนา การศึกษาอบรม ความคิดเห็นทางการเมือง  แต่ความดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซ้ำร้ายกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ยังไม่ปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากประเทศไทยเริ่มที่การแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้ทั้งกระบวนการรับเข้าทำงาน การดูแลพนักงาน และการเลิกจ้างถูกคุ้มครองโดยกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้นายจ้างเลือกปฏิบัติแก่แรงงานโดยไม่เป็นธรรม

และหากย้อนกลับไปดูข้อมูลรายงานสิ้นเดือน ธันวาคม 2564 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะพบว่าประเทศไทยเรามีสหภาพจำนวนทั้งหมดเพียง 1,432 แห่งเท่านั้น และมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งสิ้น 610,390 คน โดยแบ่งออกเป็นจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในกิจการเอกชน 458,052 คน และจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 152,338 คน สิ่งเหล่านี้สะท้อนความละเลยเพิกเฉยของกระทรวงแรงงานไทย และสะท้อนปัญหาสิทธิการรวมตัวของแรงงานไทย รวมถึงตัวเลขเหล่านี้ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งต่อความเป็นประชาธิปไตยและอำนาจต่อรองที่ประชาชนมีต่อโครงสร้างส่วนบนของสังคมอย่างกลุ่มทุนและรัฐบาล และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำไมการชุมนุมประท้วงของประเทศไทยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา จึงมีแต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่แรงงานไทยมีจำนวนเกือบ 40 ล้านคนทั่วประเทศ


อ้างอิง

  • “Statistics on union membership.” ILOSTAT, Accessed October 22, 2021. https://ilostat.ilo.org/topics/union-membership/?fbclid=IwAR0Yn-JMZmFWeUd_kSmhihz8fZdr5JYci6sGYD8dQCZvZ5ORsdkLh18473g 

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.