รัฐสวัสดิการในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยุคโควิด

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

“ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน หรือชนชั้นสูง ก็สามารถตามหาความหมายของจักรวาลได้ หากเกิดมายากจน รักดีแค่ไหนก็ได้แต่ทำงานร้านสะดวกซื้อ คนเราจึงถูกขังด้วยชาติกำเนิด สิ่งเดียวที่แก้ไขได้คือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ครบวงจร ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอเมื่อปี 2475 แล้ว คือ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนให้ทุกคนปลอดภัย ตอนนั้นเสนอให้คนมีเงินเดือนเดือนละ 20 บาท เทียบปัจจุบันคือ 4000 บาท ในทางสากล เรียกว่าเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าที่สุด ในปัจจุบันที่รัฐบาลฟินแลนด์กำลังทดลองอยู่ แต่ไทยเสนอเมื่อ 80 ปีก่อน แต่ชนชั้นนำไทยไม่ต้องการ สิ่งที่ต้องการคือ เงินจากบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ต้องบรรจุพยาบาล ไม่ใช่นายพลต้องเลี้ยงดูคน 20 ล้านครอบครัว ต้องการรถเมล์ ไม่ใช่เรือดำน้ำ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการประชาธิปไตย หาใช่เผด็จการ!”

การประชุมใหญ่บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ในวันที่ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ของกลุ่มราษฎร กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีแกนนำหลักคือเหล่านักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ การขึ้นปราศัยบนเวทีล้วนมีทั้งนักศึกษา บางกลุ่มแรงงาน และกลุ่มภาคประชาสังคมต่าง ๆ รวมถึงประชาชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ขึ้นเวทีปราศรัยเป็นครั้งแรก โดยกล่าวถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ เชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมองตึกสูงโดยรอบ และย้ำให้ทุกคนเห็นว่า ประชาชนที่เขาเพียรสร้างปราสาทเหล่านี้เขากลับได้อยู่ในสลัม ประชาชนสร้างความมั่งคั่ง แต่กลับถูกทิ้งให้อยู่กับความยากจน ทั้งที่ประเทศเรานี้มีงบประมาณปีละ 3.2 ล้านล้านบาทต่อปี งบประมาณที่ใช้ดูแลครอบครัวครอบครัวนึง ถ้าเราเป็นคนธรรมดา เป็นตาสีตาสา เป็นพนักงานออฟฟิส เป็นข้าราชการ เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นชาวนา เราจะได้งบประมาณดูแลชีวิตเราอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อปี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวบ่งบอกถึง ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี

ษัษฐรัมย์ ย้ำให้ทุกท่านเห็นภาพ โดยอธิบายอีกว่า ประเทศไทยมี 3 ลักษณะที่แสดงความอัปลักษณ์ นั่นคือ

1) เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง 7-8 ปีเกิดครั้งหนึ่ง เลือกตั้งมาถูกรัฐประหาร เป็นความเหลื่อมล้ำทางการเมืองมหาศาลที่เกิดขึ้น เลือกตั้งมาถูกยุบพรรค เลือกนายกฯ ถูกตัดสิทธิ

2) จารีตประเพณี อนุรักษนิยม เกิดมาเหลื่อมล้ำ

3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเถียง หรือไปเอาชุดข้อมูลที่ไหนมา สิ่งที่ยืนยันได้คือ ความเหลื่อมล้ำเราติดอันดับท็อป 5 ของโลกหลายปีติดต่อกัน สาเหตุใหญ่คือเราไม่มีรัฐสวัสดิการ เราไม่มีสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชน

ในประเทศอื่นทั่วโลก มีเพียงข้อเดียวก็ทนไม่ได้แล้ว แค่รัฐประหารบ่อยครั้ง ประชาชนก็ทนไม่ได้ แต่ด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น คนไทยถูกทำให้ยอมจำนน โดยที่ไม่สามารถตั้งคำถามอะไรได้เลย เพราะอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ทำให้เขาต้องยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข นักศึกษายังขอสู้แม้ชีวิตต้องลำบาก

“อาชีพของผมคือ สอนหนังสือทำมาหากิน ด้วยหัวใจของครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ถูกดำเนินคดีก็ไม่สบายใจ ผมถามลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นครองอำนาจตั้งแต่ปี 2557-2558 เขาเรียนเก่ง เกรดเฉลี่ย 3.8 มองด้วยตาเปล่าก็รู้ว่าเขาเป็นเด็กเก่ง รักดี มีอนาคต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา เขาเรียนจบช่วงโควิด-19 หางานไม่ได้ หลายบริษัทตั้งข้อหาว่า การที่เขาถูกหมาย เป็นคนไม่ดี ไม่ควรอยู่ในองค์กร ผมเป็นครูบาอาจารย์ก็เศร้าใจ จริงอยู่เรารักประชาธิปไตย ต้องการสังคมที่เสมอภาค แต่เราต้นทุนไม่สูง เราล้มเหลวไม่ได้ ผิดพลาดไม่ได้ เขามาจากต่างจังหวัด ฐานะค่อนไปทางยากจน ผมไม่รู้ว่าเขาต้องฝ่าฟันขนาดไหนจนได้เข้ามาธรรมศาสตร์ กว่าจะเรียนจบ กว่าจะกู้กยศ. ต้องเจอความจนนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะเรียนจบ นี่คือความเจ็บปวด ผมถามเขาตรง ๆ ว่า ถ้าเลือกได้อีกครั้ง ถ้าเงียบและอยู่เป็นในวันนั้น ไม่ตั้งคำถาม ก้มหัวยอม ไม่ชู 3 นิ้ว ปล่อยให้ผ่านไปจะทำไหม ? สิ่งที่นักศึกษา มิตรสหายของผมบอก เป็นสิ่งที่แทงใจผมมาก จนต้องขึ้นเวทีวันนี้ เขาบอกว่า ใช่ครับ ผมเกิดมาในฐานะที่ยากจน ผิดพลาดครั้งหนึ่งชีวิตก็ตาย ครอบครัวต้องแบกภาระอีกเยอะ ถ้าไม่สามารถหางานทำได้ก็ตาย ชีวิตเปราะบาง เคยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนปลอดภัย มีเงินที่สามารถออกมาได้ แต่อาจารย์เชื่อไหม สำหรับเด็กบ้านนอกจน ๆ ที่มีความฝันแบบผม ต่อให้ผมได้เลือกอีกกี่ล้านครั้ง ก็จะต้านเผด็จการอีกครั้ง ต่อให้ชีวิตย่ำแย่ลำบากขนาดไหน ยากจน ไม่มีกิน กู้กยศ. ต่อให้ต้องคุกเข่าขอความเมตตากี่ครั้งในชีวิตปกติ เมื่อออกมาสู่ปริมณฑลทางการเมืองก็จะทำแบบเดิม มันน่าละอาย ถ้าปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่พี่น้องบอกให้เราอยู่เป็น แต่เมื่อเรายืนขึ้น ก็จะเห็นว่าศัตรูของเราตัวเล็กนิดเดียว

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อเดือนกันยายน มีโอกาสได้ร่วมชุมนุม เมื่อ 19 กันยายน ผู้ปกครองนักศึกษาบอกผมว่า ขอบคุณอาจารย์มาก เพราะอาจารย์สอนลูกผมแบบนี้ ลูกผมเลยมีหัวใจที่รักประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ผมบอกคุณพ่อคนนั้น อยากบอกว่า ผมสอนหนังสือ เจอเด็กเป็นร้อยเป็นพันคน มีแตกต่างกันไป เจอเด็กคนหนึ่ง เต็มที่ทั้งชีวิตทั้งเทอมแค่ 50 ชั่วโมง อาจารย์ที่เจอนักศึกษาเท่านี้ ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ลูกของคุณพ่อ เขารักประชาธิปไตย ยืนหยัด เพราะคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง สอนเด็กและลูกหลานให้รักความยุติธรรม ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า ยืนหยัดต่อความไม่ถูกต้องแม้แต่ครอบครัวขวาจัด สิ่งที่อยากย้ำ ความดีงามของเยาวชนวันนี้ ที่ออกมาตั้งคำถาม ทวงถามความเสมอภาค ก็เพราะความเชื่อของพ่อแม่ ที่ส่งต่อความฝันมาก่อนหน้านี้”

เสาหลักค้ำจุนความเหลื่อมล้ำ ประเทศนี้ นอกจาก 3 อัปลักษณ์ที่เผชิญ มี 4 เสา ค้ำจุนความเหลื่อมล้ำในไทย หนึ่งคือความยากจน ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนไทยมีรายได้ 2 หมื่นกว่าบาท จาก 3 ชีวิต แต่มีค่าใช้จ่าย 27000 บาท ครอบครัวไทยกว่า 60% เกิดมาติดลบตั้งแต่วันแรกยันวันสุดท้าย ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้แม้แต่วันเดียว การพูดว่าไม่เลือกงานไม่ยากจน คนที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศก็คือพี่น้องเสื้อแดง แรงงานนอกระบบ เกษตรกรชาวนา ในโรงงานอุตสาหกรรม 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มนุษย์ถูกแบ่งด้วยสวัสดิการ ถูกแบ่งชนชั้น ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยบอกว่า ความเหลื่อมล้ำแก้ไขไม่ได้ เกิดมาเป็นแบบไหนต้องเป็นแบบนั้น แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีนโยบายหนึ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่เกิดขึ้นแล้ว คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ชนชั้นนำเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ สิ่งเหล่านี้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเทศไทยไม่ได้ต่างกับ 100 กว่าปีก่อนเลย ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน หรือชนชั้นสูง ก็สามารถตามหาความหมายของจักรวาลได้ หากเกิดมายากจน รักดีแค่ไหนก็ได้แต่ทำงานร้านสะดวกซื้อ คนเราจึงถูกขังด้วยชาติกำเนิด สิ่งเดียวที่แก้ไขได้คือ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ครบวงจร ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่ปรีดี พนมยงค์ เคยเสนอเมื่อปี 2475 แล้ว ข้อเสนอปรีดี ง่ายมาก จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอนให้ทุกคนปลอดภัย ตอนนั้นเสนอให้คนมีเงินเดือนเดือนละ 20 บาท เทียบปัจจุบันคือ 4000 บาท ในทางสากล เรียกว่าเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าที่สุดในปัจจุบัน ที่รัฐบาลฟินแลนด์กำลังทดลองอยู่ แต่ไทยเสนอเมื่อ 80 ปีก่อน แต่ชนชั้นนำไทยไม่ต้องการ

สิ่งที่ต้องการคือ เงินจากบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ต้องบรรจุพยาบาล ไม่ใช่นายพล ต้องเลี้ยงดูคน 20 ล้านครอบครัว ต้องการรถเมล์ ไม่ใช่เรือดำน้ำ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการประชาธิปไตย หาใช่เผด็จการ!

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.