แรงงานภายใต้สถานการณ์โควิด-19

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปลายปี 2562 นำมาสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศจากการปิดกิจการและลดระดับการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ นับว่าเป็นการเปิดแผลความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมและความเปราะบางของชีวิตของคนไทยจากการขาดสวัสดิการรองรับ ที่ผ่านมาในสังคมไทยจะมีภาพการขายวัว ขายควาย จำนำครกสาก และเครื่องมือทำมาหากินเพื่อส่งลูกเรียน การที่เยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากระทันหันเพราะไม่มีเงินใช้จ่าย และการนำที่นาไร่สวนไปจำนองเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือการที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบจนต้องไปกู้นอกระบบดอกเบี้ย 10-30% ต่อเดือน เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นเรื่องทั่วไปที่พบเห็นโดยทั่ว ทว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปรกติ แต่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยขาดความมั่นคงในชีวิต จากค่าแรงรายวันคนไทยอยู่ที่ 300-500 บาท เงินเดือนระดับปริญญาตรีเริ่มที่ 15,000-20,000 บาท คนไทยมีเงินในกระเป๋าน้อยมากเมื่อเทียบทุกระเบียดนิ้วของชีวิตคนไทยที่ถูกทำให้เป็นสินค้าที่ต้องซื้อหาในราคาที่แพงลิ่วตั้งแต่การศึกษา การรักษาพยาบาล และการเดินทาง เราจึงเห็นว่าที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนไทยเพื่อการบริโภคพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับอัตราหนี้เสียในระบบ การที่กำลังซื้อคนไทยหดหาย ศักยภาพในการใช้คืนหนี้ตกต่ำ ล้วนมาจากรายได้ที่ลดลงของคนไทย ที่สอดคล้องกับจำนวนผู้ตกงานและการปิดกิจการที่สูงขึ้น

ผลจากมาตรการสั่งปิดสถานประกอบการโดยไม่มีเงื่อนไขหรือมาตรการรองรับ ส่งผลให้นายจ้างหลายราย ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ กลาง หรือเล็ก ต่างปลดกำลังคนออกเป็นจำนวนมาก กลุ่มแรงงานในระบบที่มักถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรกนั่นคือ กลุ่มแรงงานซับคอนแทรค(sub-contract) และแรงงานกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส จากงานที่ไม่มั่นคงและไม่มีสวัสดิการรองรับ คือ แรงงานนอกระบบ ที่มีจำนวนมากในประเทศไทย ต่อมารัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาแจกเงิน “เราไม่ทิ้งกัน” ช่วงกลางปี 2563 ด้วยวงเงินเยียวยารวมกว่า 15,000 บาท/คน และผู้ประกันตนในประกันสังคม มาตรา 33 ไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานี้ โดยรัฐบาลอ้างว่าประกันสังคมมีมาตรการดูแลอยู่แล้ว คนไหนตกงานหรือโดนไล่ออกก็จะมีเงินให้ 15,000 บาทเช่นกัน ปัญหาของการคิดเช่นนี้อยู่ที่ว่าแม้จะไม่โดนไล่ออก แต่แรงงานในยุคโควิดต่างก็โดนลดโบนัส ตัดเงินเดือนเหลือ 75% โอทีหาย รวมถึงลดการปรับเงินเดือนประจำปีกันถ้วนหน้า และที่สำคัญคือเงินประกันสังคมคือเงินของผู้ประกันตนไม่ใช่เงินของรัฐบาล ดังนั้นการใช้เงินประกันสังคมเพื่อมาเยียวยาจึงไม่ต่างจากการใช้เงินตัวเอง ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้แรงงานทุกอาชีพจึงได้รับผลกระทบในทุกมิติ และน่าจะลากยาวหลายปีกว่าจะกลับมาสู่สถานการณ์ปรกติได้

หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบ 2 ณ ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ช่วงปลายปี 2563  ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการประมง มีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ขณะนั้นเองรัฐบาลและรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ของรัฐบาลพลังประชารัฐ สุชาติ ชมกลิ่น ก็ได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่เชื้อในพื้นที่ทันที โดยเฉพาะโซนพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติทำงาน ส่งผลให้นายจ้างที่นำเข้าแรงงานมาอย่างผิดกฎหมาย หรือนายจ้างที่ไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายในการคัดกรองโควิดให้แรงงานของตนได้ตามคำสั่งรัฐ มีการนำแรงงานข้ามชาติไปปล่อยทิ้งไว้ตามข้างทางหลายเคส และภาพข่าวที่ปรากฏ (ภายหลังข่าวถูกปิดและเงียบหายไป) ว่าแรงงานข้ามชาติถูกกักตัวภายในอาคารที่มีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก หรือกักตัวภายในอาคารรวมกันโดยไม่ได้มีการตรวจคัดกรองระหว่างคนติดโควิดและไม่ติดออกจากกัน จะเห็นได้ว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐออก มีการเลือกปฏิบัติและละเลยสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างมาก รวมถึงการเยียวยามีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน ระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่งเงินในแต่ละเดือนไม่ต่างกัน แต่การเข้าถึงสิทธิที่ควรจะได้จากสวัสดิการประกันสังคมกลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่เงินเยียวยาที่แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิได้รับ และการเข้าไม่ถึงการตรวจ การรักษาพยาบาล ตามสิทธิประกันสังคม จนองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติและสหภาพแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ต้องออกมาเรียกร้องส่งเสียงกันว่า “ทำไมแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง”

นโยบายเยียวยาภายใต้โครงการต่าง ๆ เริ่มทยอยออกมาอีกครั้งตามระลอกการแพร่ระบาด โดยเริ่มจากโครงการ “เราชนะ” มีวงเงินรวมกว่า 7,000 บาทที่ให้เป็นเครดิตในแอพเป๋าตังไม่แจกเป็นเงินสด ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ในประกันสังคมมิได้มีสิทธิรับเงินเยียวยาในโครงการนี้เช่นเดิม แต่ด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไปรวมถึงกลุ่มแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงไม่กี่สัปดาห์ เจ้ากระทรวงแรงงานได้มีการประกาศเกณฑ์การได้รับเงินเยียวยาของผู้ประกันตนมาตรา 33 หากแต่ปรับเปลี่ยนให้ได้รับสิทธิภายใต้โครงการ “เรารักกัน” ที่จ่ายให้เป็นเครดิตลงในแอปเป๋าตังเช่นกัน ในงบเพียง 4,000 บาท พร้อมเกณฑ์ต้องมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาทในบัญชี ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามกลับไปจำนวนมากจากกลุ่มแรงงานบางส่วน โดยเฉพาะจากกลุ่มแรงงานจะรวมพลคนไม่มีจะกิน ว่า “คนทำงานมาเป็นสิบ ๆ ปีจะไม่ให้ประชาชนคนทำงานมีเงินเก็บ หรือคนมีเงินเก็บไม่เดือดร้อนและไม่ควรได้รับเงินเยียวยาจากรัฐเชียวหรือ ?” จนกระทั่งมีผู้นำแรงงานที่เห็นชอบกับมาตรการเยียวยาเหล่านี้ตอบโต้ว่า “อย่าใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง” พร้อมให้กำลังใจรัฐบาลที่เมตตากรุณาแรงงานในระบบ

ในท้ายที่สุด เกิดการระบาดระลอกที่ 3 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านสุขุมวิท ทองหล่อ ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 รัฐกลับมามีคำสั่งปิดร้านอาหารและสถานบริการต่าง ๆ อีกครั้ง ขณะที่ประชาชนทุกคนเฝ้ารอการลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งในเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงอย่างมีความหวัง และหลังจากนั้นไม่นานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเขตพื้นที่สีแดงเข้มได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม  ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยห้ามคนหรือผู้ใช้แรงงานเข้าออกในแคมป์ก่อสร้าง ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในพื้นที่แคมป์ก่อสร้างจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะมีข้าวกล่อง ของเครื่องใช้พร้อมเงินรายวันให้ จากคำกล่าวอ้างของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่อกรณีการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างของรัฐบาลว่า “ผมรู้ระบบจัดการแรงงานเป็นอย่างดี ถ้าเรามีอาหารกิน มีเงินให้เขาใช้จ่าย เขาจะเคลื่อนย้ายทำไม ผมมั่นใจว่าเอาอยู่“ หากแต่แท้จริงแล้ว ภาพจริงที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลได้ทำให้แคมป์คนงานก่อสร้างกลายเป็นนรกบนดิน ด้วยการสั่งปิดแคมป์ ล็อคคนงานให้ถูกขังอยู่ในแคมป์คนงานโดยไร้การเหลียวแลเป็นจำนวนมาก ประชาชนต้องตั้งกลุ่มดูแลกันเอง ร่วมกันประสานงาน รวบรวมข้อมูลแคมป์วิกฤติในแต่ละแห่ง หาของบริจาค ลงแรงลงเงินกันเองแทนรัฐบาล แทนกระทรวงแรงงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบแรงงานทั้งไทยและข้ามชาติทั้งหมด คนงานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลังจากมีคำสั่งปิดแคมป์ เพราะไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของได้ หรือถึงจะออกไปได้ก็ไม่มีเงินซื้ออยู่ดี เนื่องจากรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยที่ถูกสั่งให้หยุดทำงานล่าช้า ผลก็คือคนงานไม่มีทางเลือก ต้องยอมอดข้าว 1-2 มื้อ เพื่อให้อาหารแห้งที่เหลือพอประทังชีวิตจนกว่าจะมีหน่วยงานนำอาหาร-ข้าวของมาให้ บางแห่งถึงแม้จะมีหน่วยงานมาดูแลสิ่งที่ได้ก็มีเพียงข้าวกล่องมื้อเดียวเท่านั้น อีก 2 มื้อที่เหลือให้คนงานไปหาเอาเอง ที่หนักกว่านั้นคือในแคมป์ที่มีผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่ได้รับการรักษา ทำให้ต้องพักอาศัยร่วมกับแรงงานคนอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ กลายเป็นคลัสเตอร์แพร่ระบาดใหม่ไปในท้ายที่สุด 

จากการสำรวจ “สัดส่วนแรงงานในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 แบ่งตามระดับรายได้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในจำนวนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 72% จากทั้งหมด ส่วนกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000-30,000 บาท/เดือน, 30,000-50,000 บาท/เดือน และมากกว่า 50,000 บาท/เดือน มีสัดส่วนได้รับผลกระทบรุนแรงน้อยลงตามลำดับ โดยหากเจาะลึกไปแต่ละภาคอุตสาหกรรม จะพบว่าภาค ‘ค้าปลีก’ และ ‘การท่องเที่ยว’ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีแรงงานรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดที่ 86% และ 76% ตามลำดับ หากพิจารณาร่วมกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะพบว่ามีสัดส่วนกว่า 89% ต่อ GDP ที่ 14 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะรายได้ต่ำ หนี้สูง และสภาพการทำงานที่เปราะบางอย่างยิ่ง เนื่องจากแรงงานในปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยเป็นพนักงานแบบสัญญาจ้างและรายวัน ซ้ำร้ายยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอย่างค้าปลีกและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในปี 2564 นี้ และนี่อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้รัฐบาลเห็นว่าแท้จริงแล้วเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ ผู้ที่ได้รับความเสียหายที่สุดคือคนรากหญ้า ผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งไม่มีสวัสดิการและมาตรการจากรัฐที่ดีในการรองรับ

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.