แยกรัฐวิสาหกิจออกจากเอกชน

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

“ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” 

คำชี้แจงของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หลังทำรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และเพียงสามวันให้หลังได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศให้เข้าพบ เพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ พร้อมกล่าวคำชี้แจงในประโยคข้างต้น ก่อนภายหลังจะใช้อำนาจในการกำจัดสิทธิการเรียกร้องสิทธิแรงงาน และกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ รสช. ด้วยการประกาศคณะ รสช.ฉบับที่ 54 แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อควบคุม จำกัดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานในภาคเอกชน ห้ามให้คนนอกเป็นที่ปรึกษาสหภาพ และมีการผ่านร่างกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นเอง แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งส่งผลให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดต้องถูกยกเลิกไป ต้องรวมตัวกันจดทะเบียนภายใต้รูปแบบสมาคมใหม่อีกครั้งภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 แทน 

ขบวนการแรงงานส่วนหนึ่งที่มุ่งสวามิภักดิ์เผด็จการ โดยการมอบช่อดอกไม้สนับสนุนคณะ รสช. พร้อมทั้งร่วมขับเคลื่อนงานไปกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 อย่างสงบภายใต้คำสั่งของคณะ รสช. การแสดงตนว่าเห็นด้วยกับการให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของสังคมว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ 3 คนและผู้นำแรงงานภาคเอกชนอีกหนึ่งคนได้รับการแต่งตั้งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยทั้งสี่คนพยายามคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผ่านการแปรญัตติและลงมติไม่เห็นชอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์นี้ในสภาฯ แต่ก็ไม่เป็นผล ต่อมาในสภาฯ มีการลงมติออกเสียงในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ทั้ง 4 คนต่างลงมติเห็นชอบต่อร่างฉบับดังกล่าว ส่งผลให้ขบวนการแรงงานไม่พอใจ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ออกจากการเป็นผู้นำ สู่การลาออกของผู้นำแรงงานภาคเอกชน 1 ใน 4 ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ขณะเดียวกันขบวนการแรงงานอีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและระบอบเผด็จการ รสช. อย่างจริงจัง ผู้นำหนึ่งในนั้นคือ ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ภายหลังหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงปัจจุบัน แรงงานกลุ่มนี้เข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ และขึ้นปราศรัยคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกฯอย่างแข็งขัน เคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการประชาธิปไตยอื่น ๆ อาทิ ขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา กลุ่มวิชาชีพ และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535 ในท้ายที่สุด ก่อนนำไปสู่การโค่นล้มระบอบ รสช.ลงได้

ช่วงเหตุการณ์รัฐประหารนี้ นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อการพัฒนาขบวนการแรงงานมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทำให้เห็นความแตกแยกภายในขบวนการแรงงานที่มีระดับแตกต่างกัน ทั้งรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ร่วมกันเคลื่อนไหวและแยกออกจากกัน ด้วยเหตุผลทางความคิด อุดมการณ์ ทัศนคติ บทบาทนำ โดยมีปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เป็นปัจจัยเอื้อให้ขบวนการแรงงานแสดงออกในเชิงการสนับสนุนและต่อต้านคณะรัฐประหาร รวมถึงการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ อีกด้วย (ดรุณี หมั่นสมัคร, 2557)


อ้างอิง

  • ดรุณี หมั่นสมัคร. “การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงาน: การวิเคราะห์เปรียบเทียบผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.