การต่อสู้ของแรงงานหญิง ฮาร่า

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

โดนเข็มตำมือเขาบอกให้เอาน้ำมันหยดแล้วกัน

ชอเกียง แซ่ฉั่ว ผู้นำการต่อสู้ของแรงงานหญิงฮาร่า

กางเกงยีนส์ฮาร่าเป็นกางเกงยีนส์ที่มีชื่อเสียงและขายดีมาก โดยมีเจ้าของเป็นนายทุนจีนเชื้อสายไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในซอยวัดไผ่เงิน ตรอกจันทร์ 3 โรง ต่อมากิจการได้กำไรดีจึงได้ขยายไปตั้งโรงงานที่อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐมอีก 1 โรง โรงงานที่ตรอกจันทร์ซึ่งเป็นโรงงานแรกเริ่ม คนงานเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นคนจีนเนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ในย่านคนจีน ขณะที่เจ้าของโรงงานได้กำไรมหาศาล แต่กลับไม่ได้สนใจคนงานปล่อยให้โรงงานมีสภาพแวดล้อมย่ำแย่และสวัสดิการที่เลวร้าย การขยายโรงงานไปยังที่ใหม่ทำให้นายจ้างพยายามจะเอารัดเอาเปรียบคนงานโดยการลดค่าจ้างคนงานในโรงงานเก่า คนงานพยายามจะเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518   คนงานโรงงาน 1 ที่ตรอกจันทร์และที่อ้อมใหญ่ภายใต้การนำของ ชอเกียง แซ่ฉั่ว ได้พร้อมใจกันนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสวัสดิการ แต่กลับได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรง หลังจากที่การนัดหยุดงานยืดเยื้อกว่า 3 เดือน คนงานได้ตัดสินใจยึดโรงงานที่วัดไผ่เงินมาทำการผลิตเอง โดยการขายหุ้น ระดมทุนจากประชาชนที่เห็นใจคนงานมาซื้อวัตถุดิบมาดำเนินการเอง โดยใช้ชื่อว่า “โรงงานสามัคคีกรรมกร” ทำการผลิตเสื้อและกางเกงยีนส์ออกจำหน่ายในราคาถูก ในที่สุดโรงงานสามัคคีกรรมกรของคนงานฮาร่าก็ถึงกาลอวสานเมื่อรัฐส่งเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามอย่างรุนแรง คนงานหลายคนถูกจับกุมดำเนินคดี

ต่อมาได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ ขึ้นมาพิจารณากรณีพิพาทแรงงานโรงงานฮาร่าประกอบด้วยดร.เขียน  ธีระวิทย์  อารมณ์ พงศ์พงัน และดนัย บุญนาค คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาด ให้นายจ้างรับคนงานที่หยุดงานกลับเข้าทำงาน ตามปกติ แต่นายจ้างไม่ยอมรับ กลับอ้างว่าคนงานไม่ยอมรับเงื่อนไขสภาพการจ้างใหม่ และในส่วนของคดีคนงานยึดโรงงาน ถูกดำเนินคดีต่อในศาลจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สังหารโหดนักศึกษาและประชาชน ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้คนงานส่วนใหญ่กลัวถูกทำร้าย จึงตัดสินใจหนีเข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.