การเมืองเหลือง-แดงในขบวนการแรงงาน

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

การเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องจากเรื่องกฎหมายขายรัฐวิสาหกิจ หรือกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ จากรัฐบาลชวน หลีกภัย จนกระทั่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้นำแรงงานบางส่วน อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประกาศเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อย่างชัดเจน โดยมีแกนนำจากฝั่งแรงงาน สรส. ร่วมด้วย พร้อมเป้าหมายการเรียกร้องหลักคือต่อต้านนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวของขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจและภาคประชาสังคมนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล กลายเป็นเงื่อนไขของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในที่สุด ภายหลังการรัฐประหาร การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงแตกแยกและขยายเป็นวงกว้างในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในขบวนการแรงงาน แรงงานอีกกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ได้สนับสนุนและเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มเคลื่อนไหวที่กำเนิดขึ้นและเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนหลังรัฐประหารครั้งนี้ โดยมีกลุ่มสหพันธ์แรงงานสิ่งทอฯ ประกาศตัวชัดเจนในการเข้าร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในงานวันสตรีสากลปี 2549 ก่อนการรัฐประหาร

ในปี 2550-2551 ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แรงงานเริ่มมีการรวมกลุ่มขึ้นใหม่อีกหลายกลุ่ม เช่น สมัชชาแรงงาน และเริ่มมีการร่วมออกแถลงการณ์เรียกร้องเชิงนโยบายทางสังคมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมอื่น ๆ อาทิ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ (ปัจจุบันคือกลุ่ม Try Arm) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาฯ กลุ่มประกายไฟ ที่ต่อมาถูกสลายการชุมนุมด้วยคลื่นความถี่ทำลายประสาทหูที่ใช้ในสงครามอิรัก ก่อนแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจะสลายการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายน 2552 ในภายหลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แทน และมีบทบาทสูงในวิกฤตการณ์การเมืองไทยช่วงปี 2556-2557 ในฐานะผู้จัดการชุมนุม  ก่อนกลุ่มแรงงานกลุ่มใหม่ในนามสมาพันธ์กรรมกรเพื่อประชาธิปไตยจะอออกแถลงการณ์และแสดงจุดยืนตรงข้าม กปปส. อย่างชัดเจนต่อมา ขณะเดียวกันคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยังคงมีการออกแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลและเชิญชวนพี่น้องแรงงานออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีถัดไปที่หน้ารัฐสภา ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) โดยมีแรงงานกลุ่มต่าง ๆ และสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. พร้อมด้วยแกนนำกับมวลชน กปปส. เข้าร่วมกิจกรรมด้วย (ดังภาพถ่ายข้างต้น) การเคลื่อนไหวภายหลังจากนี้ถูกเคลื่อนไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง และนำมาซึ่งการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองบทบาทนำหลายปีกระทั่งปัจจุบัน

ลักษณะการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการแรงงานหรือองค์กรแรงงานกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบทั่วไปที่ได้รับอิทธิพลหรือมีแนวคิดใกล้เคียงกับกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น กลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวเป็นไปตามความคิดทางการเมืองมากกว่าประเด็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากรัฐ แม้จะไม่มีพลังและบทบาทในการนำ เป็นปากเป็นเสียงให้แก่คนงานในระดับชาติได้ดั่งเช่นขบวนการแรงงานที่ประกาศร่วมกับกลุ่ม กปปส. แต่ประเด็นการยอมรับและได้ผลประโยชน์จากนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นส่งตรงถึงพวกเขา มากกว่าการขับเคลื่อนของกลุ่มขบวนการแรงงานที่มีจุดยืนสนับสนุนกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธการเลือกตั้ง ที่ต่อมาภายหลังเคลื่อนไหวผ่านการยื่นเรื่องหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างเป็นทางการ กับสื่อสารผ่านสถานีโทรทัศน์ทางดาวเทียมแทนทั้งในประเด็นแรงงานและการเมืองมากกว่า

กระแสชาตินิยมพุ่งสูงขึ้นมากในภาคประชาสังคมไทยในช่วงยุคการเคลื่อนไหวนี้  และท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงานได้สร้างมุมมองด้านลบต่อแรงงานข้ามชาติ อันสังเกตได้จากทัศนะของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นต่อเหตุการณ์โรฮิงญา รวมถึงทัศนะของเลขาฯ ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมการจัดหางานที่แสดงทัศนะเฉกเช่นชนชั้นปกครองที่มีต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากว่าไม่ใช่คนไทย ให้ท้าร้องเพลงชาติไทย แรงงานต่างด้าวสะดวกต่อการจ้างวานมาร่วมชุมนุม แม้ไม่มิสทธิชุมนุมทางการเมืองไทย เพราะถือเป็นการคุกคามด้านความมั่นคงภายในประเทศอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าต่อแรงงานข้ามชาติว่า หากร่วมชุมนุมจะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต และนายจ้างจะมีความผิดรวมถึงถูกลดโควตาแรงงาน ทำให้สถานการณ์การจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในช่วงนั้นเป็นไปอย่างจำกัด มีการพิสูจน์ตัวตนที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นความคลั่งชาติจึงหาใช่ปรากฏการณ์ปกติของสังคมหากแต่ถูกหล่อหลอมด้วยกลไกของชนชั้นปกครองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาในระบบการผลิตความสมานฉันท์ในแนวทางเดียวกันมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลในการควบคุมความขัดแย้งทางชนชั้นในวิกฤติเศรษฐกิจมันจะช่วยลดการประท้วงการเรียกร้องสิทธิแรงงานหรือสิทธิทางการเมืองใดๆในระบบทุนนิยมปัจจุบันเพื่อให้สภาพการผลิตสามารถดำเนินไปได้แม้จะมีการกดขี่ขูดรีดมากขึ้นในวิกฤติเศรษฐกิจ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี


อ้างอิง

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.