ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานถูกอุ้มหาย

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

“ถ้าพ่อหายไป 3 วันให้แจ้งความแสดงว่าถูกลักพาตัว และหากไม่ติดต่อมาใน 7 วัน ให้ทำใจพ่อเสียชีวิตแน่“

ทนงหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย หลังทิ้งคำสั่งเสียสุดท้ายแก่ลูกเมีย

ทนง โพธิ์อ่าน ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย องค์กรที่มีสมาชิกแรงงานมากที่สุด เขาได้รับการยอมรับจากทั้งในประเทศและระดับสากล และยังมีบทบาทเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (ICFTU) ที่สำคัญ ทนงเป็นผู้นำแรงงานที่มีบทบาทนำในการแข็งข้อกับเผด็จการ คณะ รสช. นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เจ้าของประโยค “ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” หลังทำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เพียงสามวัน ได้ประกาศเรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบ รวมถึง ทนง โพธิ์อ่าน ต่อมาได้ประกาศใช้คำสั่งฉบับ 54 ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาของแรงงาน

การรัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นการก่อให้เกิดความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน 2 กลุ่มหลักอย่างชัดเจน ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา โดยการถือกระเช้าเข้าพบแสดงความยินดีหลังทำการรัฐประหาร และกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย แกนนำหลักขณะนั้นคือ ทนง โพธิ์อ่าน ทนงได้ประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกและความต้องการสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน โดยได้แสดงทัศนะที่ชัดเจนแข็งกร้าวและคัดค้านคำสั่งต่อคณะ รสช. การเคลื่อนไหวของทนงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง และได้เป็นผู้แทนคนงานไทยไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในช่วงวันที่ 3 – 27 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยเขาจะนำเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนงานไทยไปกล่าวในที่ประชุม ทำให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ทนงเดินทางออกนอกประเทศ ทนงได้ร้องเรียนไปยัง ICFTU 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2534 พบเพียงรถของเขาถูกจอดทิ้งไว้หน้าสหภาพฯ เขาหายตัวไปอย่างลึกลับ จนปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หลงเหลือไว้แค่เพียงถ้อยคำคัดค้านผู้นำเผด็จการที่แข็งกร้าวและหนักแน่นของเขาเพียงเท่านั้น

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.