ธงกระดาษประท้วงลาคลอด 90 วัน

การปฏิวัติครั้งที่ 3
SHARE

ธงกระดาษที่แรงงานหญิงใช้ในการรณรงค์ต่อสู้เรียกร้องในปี พ.ศ.2536 แรงงานสตรีได้ทำการรณรงค์เรียกร้องให้แรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องมาจากปี 2534 ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน กับสหพันธ์แรงงานและกลุ่มแรงงานสตรีจากย่านพระประแดง อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ และรังสิต ต่อคณะรัฐมนตรียุคอานันท์ ปันยารชุน โดยต่อมา ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 รัฐบาลลองเริ่มนำร้องโดยการประกาศระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2535 เรื่องการลาคลอด 90 วันกับข้าราชการก่อน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2535 เป็นต้นไป เดิมทีข้าราชการสามารถลาคลอดและได้รับเงินเดือน 60 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ไม่เสียสิทธิในพิจารณาขั้นเงินเดือน เพิ่มให้มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน และหากต้องการลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรเพิ่มต่อไปอีก ให้ลาได้ไม่เกิน 150 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือน สำหรับแรงงานหญิงในภาคเอกชนกลับไม่มีมติ หรือนโยบายที่จะให้สิทธิเช่นเดียวกันกับข้าราชการหญิงทั่วไป และรัฐบาลยังได้ให้ความเห็นต่อสื่อว่า “ถ้าให้ลาได้ 90 วัน ต่อไปจะเกิดลูกหัวปีท้ายปีเพื่อให้ได้ลาคลอด” เพราะเดิมทีแรงงานสามารถลาคลอดได้เพียง 60 วัน ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน 30 วัน และมีสิทธิลาได้อีก 30 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน แรงงานหญิงส่วนใหญ่จึงจำใจที่จะต้องลาคลอดเพียง 30 วันเท่านั้น ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจและการกลัวถูกเลิกจ้าง เนื่องจากมีหลายกรณีที่ผู้หญิงมักสูญเสียโอกาสในการทำงานไปเพราะการตั้งครรภ์ อาทิ หากนายจ้างรู้ว่าท้องจะถูกบีบบังคับให้ออกจากงานทางอ้อมหรือไล่ออกทันที จึงเกิดกรณีแรงงานหญิงต้องรัดหน้าท้องเพื่อไม่ให้นายจ้างรู้ขณะทำงาน เป็นต้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 องค์กรแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานต่าง ๆ จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และจัดตั้ง “คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิลาคลอด” ขึ้น การเคลื่อนไหวใหญ่ครั้งแรกเริ่มขึ้นจากการจัดประชุม สมัชชาแรงงานเรื่องสิทธิลาคลอด จัดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อระดมความคิดเรื่องวางมาตรการแนวทางการเคลื่อนไหว จากนั้นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิลาคลอดก็เริ่มมีกิจกรรมการเรียกร้อง จัดเวทีอภิปราย ยื่นหนังสือโดยร่วมกันลงนามรวม 16 องค์กร ผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนมีนาคม 2536


อ้างอิง

  • บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. การต่อสู้ของขบวนการแรงงานสตรีไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2542.
  • บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. ขบวนการสหภาพแรงงานไทยจาก รสช. ถึงยุค IMF. กรุงเทพฯ: มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2542.

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.