รณรงค์ยกเลิกจ้างเหมาช่วง

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

หลังเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู ยิ่งก่อให้เกิดการเร่งการผลิตและการจ้างงานในปริมาณมากในระบบสายพาน แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งกำไรที่มากขึ้นแต่ต้นทุนยังคงต่ำ สภาพการจ้างงานรูปแบบจ้างเหมาค่าแรงจึงเป็นที่นิยมของกลุ่มทุน เพราะนอกจากต้นทุนค่าแรงถูกแล้ว ยังไม่มีต้นทุนทางสวัสดิการให้สถานประกอบกิจการต้องรับผิดชอบ และจ้างงานได้ง่าย เลิกจ้างได้เร็วโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ เมื่อต้องการปรับลดต้นทุนการบริหาร ระบบอุตสาหกรรมแต่ละแห่งจึงเน้นการจ้างแรงงานเหมาค่าแรงมากกว่า หรือใช้ทดแทนแรงงานประจำบางส่วน รวมถึงเป็นการลดทอนอำนาจการต่อรองในสหภาพแรงงานได้อีกทอด ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยได้มีการผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษแก่นายทุนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยเพื่อดันประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค ยิ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่องทั้งระบบและเกิดการขยายตัวการจ้างงานรูปแบบจ้างเหมาค่าแรงในปริมาณมากให้ตอบโจทย์และแข่งขันในระบบทุนนิยมได้ แรงงานในระบบจ้างเหมาค่าแรงจึงมักตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายแรงงานไทยอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคเมื่อเทียบกับแรงงานประจำ จึงเปรียบได้ว่าเป็นการเติบโตบนการขูดรีดผลประโยชน์และความมั่นคงในชีวิตของแรงงานจ้างเหมาค่าแรง 

แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่หลายครั้ง เพื่อให้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของนายจ้างต่อแรงงานรับเหมาค่าแรง ในทางปฏิบัติแรงงานรับเหมาค่าแรงยังคงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรมจนถึงปัจจุบัน และยังคงมีการจ้างงานแรงงานรับเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมหนักผ่านบริษัทตัวแทนรับเหมาค่าแรง เหตุผลหลักของแรงงานที่เลือกทำงานเป็นลูกจ้างเหมาค่าแรง หรือผ่านบริษัทรับเหมาค่าแรงนั่นคือ บริษัทรับเหมาค่าแรงทำให้แรงงานเข้าถึงงานได้จริง ง่าย รวดเร็ว แม้มีคุณสมบัติที่ไม่ตรงกับที่โรงงานกำหนดไว้ และได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการที่คำนวณเป็นตัวเงินแตกต่างจากแรงงานประจำประมาณเดือนละหลายพันบาทต่อเดือน สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานไทย และการยอมรับต่อความเหลื่อมล้ำในการจ้างงาน แม้จะมีแรงงานรับเหมาค่าแรงถูกละเมิดสิทธิ และไร้ความมั่นคงในการทำงานก็ตาม 


อ้างอิง

  • มนตรี ปานแดง และ สุภาพร นาจันทัศ. การละเมิดสิทธิแรงงานในระบบการจ้างเหมาค่าแรงในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะ. กรุงเทพฯ: ศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ, 2549.
  • สุวรรณา ตุลยวศินพงศ์. “จ้างเหมาค่าแรง สะท้อนคุณภาพชีวิตแรงงานไทย” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2563, https://tdri.or.th/2013/05/subcontract-tdri/

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.