รัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

รัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกพูดถึงในสังคมวงกว้างเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อมีการระบาดทั่วของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 การระบาดใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้ประชาชนทุกคนเดือดร้อนและลำบากโดยทั่วกัน เนื่องด้วยมาตรการการรองรับต่าง ๆ รวมถึงการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ตกหล่น และคัดกรองหลายขั้นตอนจนทำให้ประชาชนที่เดือดร้อนเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่าง ๆ สถานการณ์ระบาดครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการรื้อปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถูกกลบอยู่ใต้พรมโผล่ออกมาให้ทุกคนได้เห็นอย่างถ้วนหน้า เกิดการวิพากษ์ระบบสวัสดิการในประเทศ ตลอดจนมีการนำเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นในสังคมทั้งเวทีเสวนาทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่แท้จริงแล้ว ในประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้มาอย่างช้านาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

รัฐสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนที่มีเงื่อนไขสวัสดิการและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรก  อันเป็นภาพสะท้อนจากการต่อสู้ทางชนชั้น ในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ที่มีการรวมกลุ่มของสหภาพแรงงาน มีลักษณะสำคัญคือระบบอัตราภาษีก้าวหน้า โดยเน้นสวัสดิการในฐานะสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งแตกต่างจากระบบสวัสดิการแบบกลไกตลาดที่ปัจเจกรับผิดชอบสวัสดิการของตัวเองหรือการลงทุนผ่านประกันเอกชน และรูปแบบประกันสังคมที่เน้นไปที่ผู้ทำงานผ่านระบบการจ้าง รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า นับว่าเป็นข้อเสนอหลักของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดย ปรีดี พนมยงค์ รวมถึงขบวนการแรงงานหลังจากนั้นทุกยุคสมัย แม้แต่ช่วงการแตกแยกทางอุดมการณ์สองสีเสื้อ รัฐสวัสดิการก็ยังเป็นคำที่ถูกใช้และช่วงชิงอยู่เสมอระหว่างขบวนการแรงงานด้วยกัน หรือแม้แต่ฝั่งทุนก็ตาม

แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่การรวมตัวของประชาชน นักศึกษา และแรงงาน สามารถสร้างแรงกดดันขับไล่ให้ 3 ทรราชย์ ถนอม ประพาส ณรงค์ ต้องหมดอำนาจและออกไปจากประเทศได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเสียชีวิตของประชาชนที่ร่วมชุมนุมกว่า 77 คนจากการปราบปรามของรัฐบาลที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และให้หลังเพียง 3 ปีในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารจนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยถูกแช่แข็งไว้ถึง 16 ปี ในช่วงปี 2519-2535 และหากมองย้อนไปที่ประเทศฟินแลนด์ซึ่งเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ นับช่วงเวลาที่ฟินแลนด์เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการเต็มตัว ประมาณปี พ.ศ. 2523-2525 หรือราวประมาณ 5 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ของไทย ซึ่งรวมระยะเวลาผ่านมาแล้ว 45 ปี นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาฯ จากจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กัน ฟินแลนด์กลายเป็นประเทศชั้นนำของโลก ในขณะที่ไทยยังเป็นประเทศที่ยังวนเวียนกับการรัฐประหาร มีเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชากรย่ำแย่รั้งท้ายภูมิภาคเอเชีย

และหากไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่มีการสังหารหมู่ประชาชน ไม่มีการรัฐประหารหลังจากนั้น และรัฐสภาไทยหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายซ้ายและประชาธิปไตยได้เติบโตตามครรลอง ได้สะสมการต่อสู้ ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การนัดหยุดงานเกิดขึ้นกว้างขวางเหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั่วไปเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ ใครจะรู้ว่าในวันนี้ประเทศไทยจะอยู่จุดไหนบนเส้นทางของรัฐสวัสดิการ

ทว่า การหาเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในปี 2562 พรรคการเมืองแทบทุกพรรคในประเทศ ล้วนมีการชูนโยบายรัฐสวัสดิการแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่พรรครัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ ชู “7:7:7:สวัสดิการ-สังคม-เศรษฐกิจประชารัฐ” ได้หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำไว้ถึง 400-425 บาทต่อวัน จบอาชีวะเงินเดือน 18,000 แต่จบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่ม 20,000 บาท หากมีการตั้งครรภ์จะได้รับ 3,000 ต่อเดือน ค่าดูแลเด็กอีก 2,000 บาทต่อเดือน รวมถึงค่าคลอด 10,000 บาท และจะมีการให้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน ในทุกช่วงอายุ ซึ่งตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลจนถึงปี 2565 ปัจจุบัน ยังไม่มีการทำตามนโยบายหาเสียง อาทิ ค่าแรงและเงินเดือนเด็กจบใหม่ ซึ่งคล้ายกันกับพรรคใหญ่เก่าแก่ที่ปัจจุบันได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนโยบายเกิดปั๊ปรับแสน เงินอุดหนุนเด็ก 0-8 ปี 1,000 บาท/คน, โครงการอาหารเช้า/กลางวันฟรีตั้งแต่อนุบาล ถึง ม.3 ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น 1 บาท แต่เป็นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 แทน ในช่วงงบประมาณปี 2564 มีการประกาศตามเวทีที่สาธารณะว่าเห็นด้วยกับหลักการเงินเด็กถ้วนหน้า เจ้ากระทรวง พม. ของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมดำเนินนโยบายในงบประมาณปี 2565 ซึ่งปัจจุบันเรื่องยังคงเงียบหาย และยังมีนโยบายอื่น ๆ อาทิ รับประกันรายได้แรงงาน 400 บาทต่อวัน, บำนาญถ้วนหน้า 1,000 บาทต่อเดือน, เงินสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน และเรียนฟรีถึง ปวส. พร้อมจบแล้วมีงานทำ เป็นต้น

และในฟากของพรรคการเมืองฝ่ายค้านปัจจุบันอย่างพรรคเพื่อไทย แม้จะเน้นชูนโยบายหลักเป็นเรื่องของเศรษฐกิจในทุกระดับ และประกาศหยุดวิกฤตเศรษฐกิจทุกชนชั้น  แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะชูนโยบายด้านรัฐสวัสดิการที่ประชาชนเข้าถึงได้ถ้วนหน้าอย่างแท้จริงอย่าง บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค และพร้อมเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทต่อวัน เป็นต้น ส่วนพรรคการเมืองน้องใหม่ที่เริ่มลุยสนามเลือกตั้งปี 62 ปีแรกอย่างพรรคอนาคตใหม่ มีการชูนโยบายด้านรัฐสวัสดิการ “ไทยเท่าเทียมสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร” ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มสิทธิลาคลอดพ่อแม่ 180 วัน, เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน, เบี้ยผู้สูงอายุ 1,800 บาทต่อเดือน, เพิ่มงบบัตรทอง 4,000 บาทต่อหัว และเรียนฟรี พร้อมขยายสิทธิประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ แม้จะชูจุดยืนหลักในการต่อต้านการสืบทอดระบอบเผด็จการทางทหาร และปฏิรูปกองทัพ พร้อมการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับก็ตาม

ต่อมา “รัฐสวัสดิการ” ได้ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างในสังคมอีกครั้ง ทั้งจากประชาชนเอง ตลอดจนนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและนักการเมือง ผ่านวงเสวนาหรือข้อเสนอผลักดันต่าง ๆ หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งใหญ่ในประเทศไทยในปี 2563 ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ การปิดงานในสถานประกอบการขนาดต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานหลายชีวิตจำต้องถูกพักงาน ลดเงินเดือน กระทั่งถูกปลดออก ภายหลังแม้รัฐบาลจะมีมาตรการรองรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แต่เนื่องด้วยกระบวนการต่าง ๆ มาตรการเหล่านี้จึงถูกประกาศใช้ตามหลังสถานการณ์อย่างล่าช้า ทำให้ประชาชนทุกอาชีพในสังคมที่ไร้ซึ่งสวัสดิการต่าง ๆ รองรับอยู่แล้ว ต้องแบกภาระหนักขึ้นหลายเท่าตัว และเดือดร้อนกระทบเป็นวงกว้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไม่ถึงสถาบันทางการเงินจำต้องพึ่งเงินนอกระบบ การหลุดออกจากงานเดิมและเข้าไม่ถึงงานใหม่ การเข้าไม่ถึงการศึกษาผ่านทางการเรียนออนไลน์ของบุตรหลานในครอบครัว การเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนเอง และที่สำคัญคือ การเข้าไม่ถึงโรงพยาบาลและสวัสดิการการเข้ารับการรักษา หากย้อนไป 20 ปีที่แล้ว นโยบาย 30 บาททุกโรคได้ถูกริเริ่มใช้ขึ้นจนทำให้ภาพของการขายวัว ขายควาย จำนองที่ดินจ่ายค่ารักษาพยาบาลทุเลาลงไป แต่ปัจจุบันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งขณะนี้กลายร่างมาเป็นโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับถูกแช่แข็งไม่พัฒนาไปสู่ระบบรักษาสุขภาพถ้วนหน้าฟรีเสียที สิทธิการรักษาของรัฐบาลถูกมองว่ายุ่งยากมีเงื่อนไขจำนวนมาก ทำให้การเข้าถึงสิทธิ์มีปัญหา ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 เช่นในช่วงนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะระบบการดูแลด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่ล้มเหลว ควบคุมการระบาดไม่อยู่ เสียชีวิตเกือบครึ่งหมื่นเพียง 1 ปีเศษหลังการระบาดครั้งแรกช่วงเดือนมีนาคม 2563 จนเกิดปัญหาการจัดการวัคซีนลุกลามกลายเป็นความสับสนวุ่นวาย เกิดการแย่งวัคซีนไปทั่วประเทศ วัคซีนกลายเป็นของซื้อขาย ในขณะที่ของฟรีจากรัฐถูกตั้งคำถามจากประชาชนทั้งเรื่องคุณภาพและการทุจริต ต่างจากหลายประเทศที่วัคซีนฟรีที่มีเป็นของคุณภาพประชาชนยอมรับ เข้าถึงได้ฟรี ง่าย อย่างถ้วนหน้าไม่แบ่งเชื้อชาติ สามารถลดภาระบุคลากรทางแพทย์ได้อย่างแท้จริง

ภาพสะท้อนความมั่นคงและความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับ แถมเข้าถึงยาก สามารถดูได้จากสถิติการเกิดใหม่ของประชากรไทยพบว่าลดลงต่อเนื่องเรื่อย ๆ จากเฉลี่ยประมาณ 9 แสนรายในช่วงปี 2530-2540 และ 8-7 แสนรายในช่วงปี 2540-2560 และเหลือเพียง 5-6 แสนราย ในปี 2561-2563 ที่ผ่านมา ทั้งยังมีแนวโน้มลดลงไปอีก โดยเฉพาะในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า สิ่งที่ทำให้อัตราการเกิดลดลงคือระบบสวัสดิการแม่และเด็กที่ไม่มีประสิทธิภาพ การมีลูก 1 คนกลายเป็นภาระราคาแพงของประชาชนที่ต้องแบกรับเองทุกอย่าง ในขณะที่รัฐบาลให้เพียงเงินอุดหนุนเด็กแค่เพียง เดือนละ 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กตลอดทั้งเดือน ภาพที่แม่ต้องอุ้มกระเตงลูกไปทำงานด้วยหรือการที่เด็กอายุน้อย ๆ ต้องออกมาหางานพิเศษทำหลังเลิกเรียน จึงเป็นภาพที่เห็นจนชินตาภายในสังคมไทย ทั้งที่จริงแล้วรัฐจำต้องเพิ่มงบอุดหนุนเด็กให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง มีสถานดูแลเด็กในชุมชน และการรักษาพยาบาลฟรีแบบถ้วนหน้า อีกทั้งปัจจุบันจึงมีจำนวนผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก และในอนาคตประเทศไทยจะถูกจัดเป็นสังคมสูงวัยระดับสูง ยิ่งจำเป็นในการต้องมีนโยบายรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่เพียงสวัสดิการแบบสงเคราะห์มารองรับประชาชนในสังคมได้แล้ว หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายเบี้ยผู้สูงวัย 600 – 1,000 บาทต่อเดือน ตามช่วงอายุ ผู้สูงวัยในประเทศไทยอาจมีแนวโน้มเป็นคนยากจนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น วิกฤตเหล่านี้จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า หากรัฐบาลทุกยุคสมัยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน บริหารเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกชนชั้น และยึดมั่นในแผนแม่บทแห่งนโยบายรัฐสวัสดิการที่ไม่ได้มุ่งหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่มุ่งไปที่คุณภาพชีวิตของประชากรเป็นหลัก ชีวิตคนคนหนึ่งตั้งแต่ในท้องแม่ถึงเชิงตะกอนก็จะมีคุณภาพและมีความหมายอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีศักดิ์ศรีตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.