วันกรรมกรสากล

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

ภาพถ่ายการชุมนุมวันเมย์เดย์ และรูปถ่ายขบวนแถวของกรรมกรที่ร่วมเดินขบวน เนื่องในการจัดงานฉลองวันกรรมกรสากล เมื่อบันทึกภาพไว้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2500 โดยวารสารปิตุภูมิ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2500 (ปีที่ 2 ฉบับที่ 57) ซึ่งทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกจะจัดงานเฉลิมฉลองและการชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงพลัง ทั่วไปเรียกว่า “วันกรรมกรสากล” หรือ “วันเมย์เดย์” 

ในประเทศไทยมีการจัดวันกรรมกรอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะครั้งแรกปี พ.ศ.2489 โดยสมาคมสหอาชีวะกรรมกรนครกรุงเทพฯ และสมาคมไตรจักร์ สมาคมของคนถีบสามล้อ และในปี 2490 ก็ได้จัดงานวันกรรมกรสากลอย่างยิ่งใหญ่บริเวณท้องสนามหลวง มีคนเข้าร่วมงานกว่าแสนคน เนื่องจากก่อนหน้านั้นรัฐบาลมองว่าวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันของฝ่ายซ้าย ไม่สามารถจัดกิจกรรมเปิดเผยได้ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 วันกรรมกรสากลก็กลายเป็นวันต้องห้ามอีกครั้ง รัฐบาลแทรกแซงสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในขบวนการแรงงานไทย โดยส่งคนจัดตั้งองค์กรแรงงานใหม่ในนาม สมาคมกรรมกรไทย และสมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณให้ปีละหลายแสนบาท ในช่วงปี พ.ศ.2499 องค์แรงงานได้หันมาจับมือกันจัดตั้งร่วมกันอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกและกระจัดกระจาย ในชื่อกลุ่มกรรมกร 16 หน่วย กลุ่มได้เรียกร้องต่าง ๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีกฎหมายแรงงานฉบับแรกออกมาบังคับใช้ รวมทั้งการได้กลับมาจัดงานวันกรรมกรสากลขึ้นอีกครั้ง และรัฐบาลได้ให้เปลี่ยนชื่อวันจาก วันกรรมกรสากล เป็นวันแรงงานแห่งชาติ

ภายหลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กิจกรรม กฎหมายแรงงาน และองค์กรแรงงานต่าง ๆ ถูกสั่งห้ามและถูกยุบ ผู้นำแรงงานตลอดจนนักต่อสู้ถูกจับกุมคุมขังและประหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมใด ๆ สิทธิแรงงานถูกริดรอนจนหมดสิ้น ขบวนการแรงงานไทยไม่สามารถกลับมามีพลังเข้มแข็งดังเดิมได้อีกจนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร แม้จะมีการจัดวันกรรมกรสากลขึ้น แต่ในสภาวะการเมืองประเทศเช่นนี้ หลักการสำคัญของวันกรรมกรสากลจึงได้ถูกเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมและถูกทำลายไป วันแรงงานแห่งชาติจึงกลายเป็นเรื่องภายในของกรรมกรไทย การจะทำให้วันสำคัญเหล่านี้กลับคืนสู่จิตวิญญาณดั้งเดิม เพื่อเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ยืนยันในการมีอยู่ของ “ศักดิ์ศรีแห่งชนชั้นกรรมกร” ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่ชนชั้นแรงงานอย่างพวกเราจะต้องเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยตนเอง


อ้างอิง

  • สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529.

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.