อนุสัญญา ILO 87-98

การปฏิวัติครั้งที่ 3
SHARE

ประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน กฎหมายว่าด้วยการประกันสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสหภาพนี้ ล้วนผ่านการต่อสู้เรียกร้องของผู้ใช้แรงงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากถูกคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในปี 2499 ปัจจุบันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีส่วนช่วยยกระดับแรงงานไทยในหลายมิติเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการแบ่งแยกแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจึงเสมือนปราศจากการคุ้มครองตามกฎหมาย ไร้สิทธิการต่อรองและตั้งสหภาพของตนเอง ทั้งนี้เพื่อลดทอนโอกาสการรวมตัว และเพื่อประโยชน์ในการกดค่าแรง

วันแรงงานสากลในปี พ.ศ. 2535 ขบวนการแรงงานเริ่มยื่นข้อเรียกร้องการให้สัตยาบัน ILO 87 และ ILO 98 ต่อรัฐบาลเป็นครั้งแรก ILO (International Labour Organization) หรือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2462 จากการรวมตัวของประเทศสมาชิก 45 ประเทศ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 187 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานแรงงานให้เกิดขึ้นในทุกประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพของความคุ้มครองทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานบังคับ ห้ามมีการเลือกปฏิบัติในการทำงาน และอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิการรวมตัว และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม 2 ใน 8 ข้ออนุสัญญาที่ขบวนการแรงงาน และภาคประชาสังคมร่วมกันเรียกร้อง ผลักดันในวาระสำคัญต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 ปี ตั้งแต่การหายตัวไปของทนง โพธิ์อ่าน เมื่อปี พ.ศ.2534 กลุ่มแรงงานต่าง ๆ มีการเรียกร้อง ILO ทั้งสองข้อนี้ทุกครั้งในการรณรงค์และในทุกยุคทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างไม่ได้ให้ความสำคัญในการให้สัตยาบัน และสังคมไทยยังคงมองสิทธินี้ในแง่ลบว่าสิทธิการรวมตัวเรียกร้องส่งผลกระทบต่อผู้คนในสังคมอื่น ๆ โดยเฉพาะปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตัดสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี หรือ GSP (Generalized Preference System) ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องด้วยเหตุว่าไทยขาดสิทธิแรงงาน 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ เสรีภาพในการสมาคมและรวมตัวต่อรอง สิทธิในการหยุดงานและเสรีภาพในการแสดงออก การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ (USTR) เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา รวมถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับสิทธิการรวมตัว และการเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานกลับมาภายใต้วัตถุประสงค์ “คำประกาศแห่งฟิลาเดลเฟีย” ทั้งหมด 4 ข้อ ที่มีขึ้น ณ นครฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2487  

  1. แรงงานมิใช่สินค้า
  2. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการตั้งสมาคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าอันยั่งยืน
  3. ความยากจน ณ ที่หนึ่งที่ใด ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญรุ่งเรืองทุกหนทุกแห่ง
  4. มนุษย์ทุกคน โดยไม่คำนึงถึง เชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ ย่อมมีสิทธิแสวงหาทั้งสวัสดิภาพทางวัตถุ และพัฒนาการด้านจิตใจ ภายใต้เงื่อนไขของเสรีภาพและความมีศักดิ์ศรี ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และโอกาสอันเท่าเทียมกัน

อ้างอิง

  • ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา, อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 : ทำไมต้องให้สัตยาบัน?. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2553.

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.