เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจนำประเทศไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น กรมโฆษณาการจึงได้จัดทำโปสเตอร์สังกะสีออกปิดตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อชวนเชื่อกับประชาชนคนไทยในขณะนั้นว่า “พี่น้องชาวไทยจงมีความสามัคคีกัน จงเชื่อมั่นในรัฐบาลและกองทัพของเรา มีความเชื่อมั่นว่าเราต้องชะนะ จงระลึกเสมอว่า ข่าวที่มาจากศัตรูย่อมเป็นข่าวร้ายต่อเรา และข่าวที่ไม่ดีสำหรับเราก็คือข่าวของศัตรู” และ “อังกฤษเป็นศัตรูของพวกเรา จงร่วมใจทำลายผู้รุกรานด้วยกันและขอให้ไทยเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ทั้งขอให้บรรลุผลการวางระเบียบโลกใหม่ในอาเซีย” ในกาลต่อมาที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว และทำให้ประเทศไทยตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายพันธมิตร จนเกิดเหตุการณ์ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนสินค้า และขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงจากการถูกยึดครองกิจการธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะคนตกงานจำนวนมาก

หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2481 ช่วงพันเอกหลวงพิบูลสงครามเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เดิมทีเป็นช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทั้งสถานการณ์ภายในและระหว่างประเทศ รัฐบาลได้มีนโยบายสำคัญที่เรียกว่า “นโยบายสร้างชาติ” คือการนำสยามประเทศเข้าสู่ความเป็นอารยะและมหาอำนาจ  เพื่อบรรลุนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการหลายประการอาทิ การปลุกเร้าประชาชนด้วยนโยบายผู้นำนิยม สร้างลัทธิชาตินิยมอย่างเข้มข้นขึ้น มีการปฏิวัติทางวัฒนธรรม โดยชักจูงใจให้ชาวไทยรวมพลังสามัคคีเพื่อสร้างชาติ และเพื่อให้คนไทยมี “วัฒนธรรมดี มีศีลธรรมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายอันเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี” รัฐได้ใช้เครื่องมือหลายอย่างเพื่อบรรลุนโยบายดังกล่าว อาทิ การสร้าง “รัฐนิยม” เพื่อเป็นแนวทางพึงปฏิบัติของประชาชนจำนวน 12 ฉบับ และ “วีรธรรม” ที่หมายให้สร้างเป็นนิสัยประจำชาติ 14 ข้อ

จากการประกาศใช้รัฐนิยม วีรธรรมประจำชาติ ลัทธิเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ลัทธิชาตินิยม และการปฏิวัติวัฒนธรรมของรัฐบาล ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชิวิตของผู้คนและสังคมไทยขนานใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย การยืนตรงเคารพธงชาติก็เริ่มต้นในยุคดังกล่าว ประชาชนถูกชักชวนให้แต่งกายตามแบบสากลนิยมเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นชาติเจริญ ผู้ชายจะสวมเสื้อนอก กางเกงขายาว และสวมหมวก ผู้หญิงสวมกระโปรง หรือนุ่งผ้าถุง เลิกนุ่งโจงกระเบนและต้องสวมหมวก รองเท้ารัดส้น หรือหุ้มส้น ไว้ผมยาว รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการสวมหมวกมาก เพราะถือเป็นการแสดงออกถึงความเจริญ ถึงกับมีคำขวัญว่า “มาลานำไทยไปสู่ความเป็นมหาอำนาจ” ผู้ใดมาติดต่อราชการไม่สวมหมวกถือว่าผิดระเบียบและจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสถานที่ราชการ มีการยกเลิกการกินหมากเพราะถือว่าเป็นวัฒนธรรมล้าหลังมีการสั่งทำลายสวนหมากสวนพลูทั่วประเทศ มีการรณรงค์เรื่องภาษาพูดเสียใหม่โดยให้ใช้สรรพนาม ฉัน- ท่าน แทนสรรพนามบุรุษที่หนึ่งและสองเท่านั้น

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.