เสื้อคนงานเคเดอร์ หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้

การปฏิวัติครั้งที่ 3
SHARE

โรงงานตุ๊กตาเกิดเพลิงไหม้ นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของคนงานเคเดอร์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 มีแรงงานเสียชีวิตทั้งสิ้น 188 คน พิสูจน์ตัวตนจากซากศพไม่ได้จำนวน 10 คน ได้รับบาดเจ็บร่วม 469 คน และจากการสำรวจพบว่ามีเด็กนักเรียนที่เข้าไปทำงานชั่วคราวที่โรงงาน เสียชีวิตจำนวน 5 คน อยู่ชั้น ม.2 จำนวน 1 คน ชั้น ม.3 จำนวน 2 คน ชั้น ม.4 จำนวน 1 คน และชั้น ม.6 จำนวน 1 คน แรงงานที่เสียชีวิตเหล่านั้น มีบุตรกำลังศึกษาเล่าเรียน จำนวน 64 ราย และยังเป็นทารก จำนวน 19 ราย ปัญหาการเอาเปรียบคนงานของผู้ลงทุน โดนไม่สนใจความปลอดภัยในการทำงาน และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงปัญหาการดำเนินการสอบสวนปัญหาและช่วยเหลือคนงานผู้ประสบภัยของรัฐบาล ทำให้กลุ่มแรงงานต่าง ๆ รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการแรงงาน มีการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว ติดตามการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ และผลักดันข้อเสนอระยะยาวแก่รัฐบาลขณะนั้น โดยมีการทำงานร่วมกันผ่านการจัดตั้งคณะทำงานติดตามความช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นมา ผ่านการขอความร่วมมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตลอดจนส่งตัวแทนคณะทำงานเข้าพบรัฐบาล นายบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเร่งการดำเนินการและข้อเสนอให้มีการจัดระบบตรวจโรงงานแบบไตรภาคี จนกระทั่งคณะทำงานและกลุ่มคนงานเคเดอร์ประมาณ 50 คน ร่วมกันเดินขบวนจากสวนลุมพินีไปบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์บริเวณสีลม เพื่อประท้วงบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทเคเดอร์ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 การเข้าร่วมเจรจากันในครั้งนั้นสามารถบันทึกตกลงเรื่องการทดแทนและเยียวยาได้ โดยมีสาระสำคัญด้านค่าจ้าง ค่าชดเชย ค่าทำขวัญ และเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แก่ทายาทหรือผู้มีสิทธิ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายประจำและด้านการศึกษาของบุตรลูกจ้าง ตลอดจนมอบเงินช่วยเหลือแก่ทายาทผู้เสียชีวิตทั้ง 180 คน เป็นเงินรายละ 100,000 บาท โดยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กับสำนักงานประชาสงเคราะห์ จังหวัดนครปฐม เป็นผู้กำกับดูแลความถูกต้องในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงนี้


อ้างอิง

  • บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ. ขบวนการสหภาพแรงงานไทยจาก รสช. ถึงยุค IMF. กรุงเทพฯ: มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน, 2542.

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.