เอกสารรายงานนัดหยุดงานของคนงานโรงสี

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

ภายหลังสงครามยุติลง ทหารพันธมิตรเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและบังคับให้รัฐบาลไทยต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม โดยให้ส่งข้าวสารจำนวนสองแสนตันแก่อังกฤษ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้นปี 2489 รัฐบาลจึงเร่งให้โรงสีผลิตข้าวสารทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้คนงานโรงสีทำงานหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว สหบาลกรรมกรกรุงเทพฯ จึงยื่นข้อเสนอแก่ฝ่ายนายจ้างให้ปรับปรุงค่าแรงและสวัสดิการ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2488 แต่บริษัทได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องทั้งหมดโดยอ้างเรื่องการช่วยเหลือรัฐบาล การเจรจาผ่านไปหลายวันจนกระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน กรรมกรโรงสีเอกชน 21 โรง จำนวน 1,500 คน เริ่มต้นสไตรค์หยุดงาน ก่อนที่กรรมกรโรงสี โรงข้าวสารรวม 50 โรง จำนวนกรรมกรเพิ่มเป็น 3,000 คน พร้อมกันนั้นกรรมกรไทยฝ่ายโรงจักร กุลีท่าเรือ และกรรมกรขนส่งทางน้ำ ต่างพากันหยุดงานมาสนับสนุนด้วย กลายเป็นการสไตรค์แบบทุกภาคส่วน จนถูกฝ่ายนายทุนกล่าวหาโดยใช้หนังสือพิมพ์ปรักปรำว่า การสไตรค์นี้มีอิทธิพลอั้งยี่หนุนหลัง แต่ท้ายที่สุดฝ่ายนายทุนโรงข้าวและโรงสีเอกชนยินยอมตกลงลงนามทำสัญญาต่อกันในวันที่ 27 พฤศจิกายน กรรมกรโรงสี โรงข้าวเอกชน จำนวนกว่า 2,000 คน จึงกลับเข้าทำงานตามเดิม ส่วนทางบริษัทข้าวไทยยืนกรานไม่ยอมรับข้อเสนอของกรรมกรที่สไตรค์ และได้ใช้วิธีการข่มขู่ งดเลี้ยงอาหาร จ้างนักโทษและกุลีตามรถไฟมาแย่งงานแทน เพื่อทำการบีบบังคับให้ฝ่ายกรรมกรยอมแพ้ แต่แล้วกรรมกรโรงสีได้จัดขบวนเข้าสมทบกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ กว่า 200 หน่วย ทำให้สถานการณ์กลายเป็นบีบบังคับบริษัทข้าวไทยให้ยอมรับข้อไกล่เกลี่ยแทน และยอมเซ็นสัญญาให้กลับเข้าทำงานตามปกติโดยยอมจ่ายค่าแรงเท่ากับโรงสีเอกชน การสไตรค์ของบริษัทข้าวไทยจึงยุติลงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2489

และเมื่อคณะรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทำการโค่นล้มรัฐบาลเก่าและแต่งตั้ง ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นายควงก็ได้ทำการประกาศพระราชกฤษฎีกาในเดือนธันวาคมต่อมา ให้บริษัทข้าวไทยเป็นทุนผูกขาดการผลิตและค้าข้าวทั่วราชอาณาจักร กรรมกรไทยจีนในโรงสีเอกชนทั้ง 10 โรง จำนวนกว่า 500 ชีวิต ได้ทำการสไตรค์ หยุดงานพร้อมกันในวันที่ 13 มกราคม 2491 การสไตรค์ครั้งใหญ่นี้ต่างได้การสนับสนุนและร่วมมือกับองค์การกรรมกรอาชีพต่าง ๆ ทั่วพระนคร-ธนบุรี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทข้าวไทยหลายโรง องค์การเยาวชน สตรี นักเรียนนักศึกษา เป็นต้น จนในที่สุดรัฐบาลต้องออกประกาศยกเลิกนโยบายผูกขาดและให้เปิดการค้าข้าวอย่างเสรี


อ้างอิง

  • ดำริห์ เรืองสุธรรม. “ปัญญาชนปฏิวัติของชนชั้นกรรมกรไทย.” ใน ประวัติศาสตร์แรงงานไทย (ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร), บรรณาธิการโดย ฉลอง สุนทราวาณิชย์ สุวิมล รุ่งเจริญ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา สมาน แจ่มบุรี, 243-262. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, 2542.

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.