แรงงานเสี่ยง

การปฏิวัติครั้งที่ 4
SHARE

แรงงานเสี่ยง (Precariat, Precarious Prolettariat) กลุ่มชนชั้นใหม่ซึ่งนิยามโดย Guy Standing (2011) ซึ่งชี้ให้เห็นพลังการผลิตแบบใหม่ในสังคมเสรีนิยมใหม่ซึ่งทำงานในลักษณะที่มีความยืดหยุ่น ชั่วคราว อันเป็นผลจากการปรับตัวของความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยมใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ เพื่อลดอำนาจการต่อรองของชนชั้นกรรมาชีพที่มีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้นจากการสะสมความขัดแย้งในวิถีการผลิตทุนนิยม แรงงานเสี่ยงนอกจากต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองแล้วยังต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงในระบบทุนนิยมอื่น ๆ ที่ถ่ายโอนมาจากชนชั้นนายทุน เช่น แรงงานเหมาค่าแรง ทำงานรายชิ้น คนงานรับงานกลับมาทำที่บ้าน แรงงานตามฤดูกาล หรือแรงงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานเสี่ยงขยายตัวโดยมิได้รู้สึกผูกพันหรือมีส่วนร่วมในองค์กรวิชาชีพใด ทำให้ชีวิตของพวกเขาผ่านกระบวนการทำให้เป็นสินค้าที่เข้มข้นส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาความทรงจำร่วมในสังคมการผลิต ในบริบทไทยแล้วนับตั้งแต่ปี 2553 กลุ่มแรงงานเสี่ยงมีการขยายตัวอย่างมาก ในหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานแพลตฟอร์ม ฟรีแลนซ์ พนักงานชั่วคราว ผู้ประกอบการเหนือแรงงานตัวเอง กลุ่มนี้มีลักษณะชั่วโมงทำงานสูง รายได้ต่ำ ไร้อำนาจการต่อรองและรวมตัวต่อรองได้ยาก ยิ่งสังคมมีความมั่นคั่งเท่าไหร่ พวกเขากลับมีความไม่มั่นคงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว กลุ่มแรงงานเสี่ยงจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเข้าแทนชนชั้นกรรมาชีพเดิม เพื่อรองรับการสะสมทุนที่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทำให้เป็นสินค้าที่เข้มข้นมากขึ้น

การเกิดขึ้นและขยายตัวของแรงงานเสี่ยงในกระบวนการสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่ ก่อให้เกิดวิกฤตความชอบธรรมของระบบทุนนิยมเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าแม้การขยายตัวของแรงงานเสี่ยงจะเอื้อต่อการสะสมทุน แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ระบบทุนนิยมเผชิญหน้ากับความเปราะบาง ซึ่งขบวนการแรงงานเองมีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อให้การเรียกร้องสอดรับต่อวิถีการสะสมทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และป้องกันการขยายตัวของแรงงานเสี่ยง เนื่องจากจะส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง


อ้างอิง

  • ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. “ชนชั้นแรงงานเสี่ยง กลุ่มคนชายขอบบนศูนย์กลางทุนนิยมเสรีนิยมใหม่.” วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปีที่ 43, ฉ.2 (2556): 158-169. 

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.