ใบปลิวเรียกร้องของอู่ลากรถ

การปฏิวัติครั้งที่ 2
SHARE

การเคลื่อนไหวครั้งแรกของกุลีลากรถเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยมีกรรมกร 5 คนได้ร่วมกันออกประกาศให้จีนลากรถหยุดลากรถในวันที่ 4 เมษายน แต่ในวันดังกล่าวยังคงมีจีนลากรถบางส่วนออกมาทำงานตามปกติ ทำให้ถูกพวกรถลากด้วยกันทำร้าย เอกสารที่เห็นอยู่นี้เป็นเอกสารของกรรมกรลากรถชาวจีนทำใบปลิวรณรงค์เรียกร้องไม่ให้เพื่อนคนงานไปลากรถให้กับนายทุนเจ้าของอู่ที่เอาเปรียบคนงาน โดยใช้วิธีสาปแช่งคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ แม้ท้ายที่สุดจะได้รับการเจรจาระงับการขึ้นค่าเช่ารถของเจ้าของรถตามเดิม พร้อมรับรองความปลอดภัยระหว่างการลากรถ การต่อสู้ของกุลีลากรถครั้งใหญ่ปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 2475 กุลีลากรถจำนวน 6,000 คน ในกรุงเทพฯ ได้ทำการสไตรค์หยุดลากรถ เนื่องจากเจ้าของอู่รถค้ากำไรเกินควร โดยคิดอัตราค่าเช่ารถสูงกว่าอัตราที่ทางการกำหนด นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม และยุติลงในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2475 หลังเจ้าของอู่รถได้ตกลงยินยอมลดค่าเช่า การสไตรค์หลายครั้งของกุลีจีนกลุ่มนี้แม้จะประสบความสำเร็จแต่กลับไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้อย่างแท้จริง เป็นการต่อสู้ให้มีชีวิตอยู่รอดเพียงเท่านั้น

กุลีลากรถ หรือที่คนเรียกติดปากว่ารถเจ๊ก เกิดขึ้นในยุคที่กรุงเทพฯ  กำลังพัฒนาเป็นเมืองศิวิไลซ์ตามแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่  5  ราวทศวรรษ  2430  และพัฒนาเป็นพาหนะหลักของคนกรุง แต่ต่อมาค่อย ๆ ลดจำนวนลงหลังสงครามโลกครั้งที่  2  จนรัฐได้ประกาศให้งดจดทะเบียนรถลากในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2496 เป็นต้นไป และนั่นก็คือบทอวสานของรถลากในเมืองหลวงแห่งนี้ ตลอดระยะเวลา  65  ปี  รถลากและกรรมกรลากรถได้เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์เมืองหลวงของประเทศไทย  ผู้คนนิยมใช้รถลากเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ในเมืองหลวง  แต่ชีวิตของกุลีลากรถกลับได้ชื่อว่าเป็นกรรมกรชั้นล่างสุดของเมืองหลวง  มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับขอทานหรือพวกจรจัด  ชาวตะวันตกในสมัยนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นมนุษย์พาหนะ  ที่ใช้แรงงานไม่ต่างอะไรกับสัตว์   งานลากรถเป็นอาชีพเริ่มต้นของคนจีนใหม่ที่ไม่มีช่องทางทำมาหากินก่อนที่จะขยับขยายไปสู่อาชีพใหม่  งานลากรถยังเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายของชีวิตกุลีที่ล้มเหลวจากการประกอบอาชีพอื่น  ภาพของกุลีลากรถจึงมี  2  ลักษณะที่ขัดแย้งกัน คือ  ภาพจีนหนุ่มผู้มาใหม่มีร่างกายแข็งแรงกับภาพจีนแก่ที่ไร้เรี่ยวแรงหรือจีนผอมโซขี้โรค ภาพหนึ่งเป็นชีวิตเริ่มต้นส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นวาระสุดท้ายเมื่อพ่ายแพ้กับการดิ้นรนในเมืองหลวงแห่งนี้

ทุก “เสียง” มีความหมาย

เราทุกคนคือ “แรงงาน” ที่มีชีวิต ร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงานที่คุณมี บางทีอาจมีหลายคนที่เจอประสบการณ์เดียวกัน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

503/20 นิคมมักกะสัน ถนนมักกะสัน แขวง มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

วันเวลาทำการ

เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์

เวลา 10:00 - 16:30 น​.

ช่องทางการติดต่อ

Tel : 02-251-3173

Email : tlm.thailabourmuseum@gmail.com

©2024 DEV.THAILABOURMUSEUM.ORG. ALL RIGHTS RESERVED.